คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

เด็กที่ปัสสาวะรดที่นอนอาจสัมพันธ์กับการกินนมแม่น้อย

IMG_1722

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?วัยทารกและวัยเด็กอาจพบมีการปัสสาวะรดที่นอนได้ แต่หากการปัสสาวะรดที่นอนเป็นต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงวัยทารกจนถึงวัยเด็กที่อายุเกิน 5 ปีขึ้นไปแล้ว น่าจะคิดถึงความผิดปกติ ซึ่งสาเหตุอาจเป็นจากพันธุกรรม โรคทางสมอง ภาวะผิดปกติของการนอน ความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ หรือปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่พบว่า การที่ทารกกินนมแม่อย่างเดียวน้อยกว่า 4 เดือนอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดการปัสสาวะรดที่นอนได้1 ซึ่งการศึกษาเพิ่มเติมเพื่ออธิบายถึงรายละเอียดและกลไกการเกิดจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ดังนั้น จะเห็นว่าข้อมูลในระยะหลังต่างสนับสนุนการให้ทารกได้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นจึงให้อาหารตามวัยร่วมกับนมแม่จนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้น ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นต้องย้ำเตือนและให้ความรู้ถึงประโยชน์และความสำคัญของนมแม่อย่างต่อเนื่องแก่มารดาและครอบครัวระหว่างการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง

  1. de Oliveira DM, Dahan P, Ferreira DF, et al. Association between exclusive maternal breastfeeding during the first 4 months of life and primary enuresis. J Pediatr Urol 2016;12:95 e1-6.

การกินไอโอดีนระหว่างการให้นมแม่จำเป็นหรือไม่

IMG_1683

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?แร่ธาตุไอโอดีนจำเป็นสำหรับต่อมไทรอยด์ในการสร้างฮอร์โมนและมีผลต่อพัฒนาการ ปริมาณของไอโอดีนในน้ำนมจะขึ้นอยู่ปริมาณของไอโอดีนที่มีอยู่ในมารดา โดยทั่วไปต่อมน้ำนมมีความสามารถที่จะปรับให้ระดับไอโอดีนเข้มข้นขึ้นและทำให้ไอโอดีนเพียงพอสำหรับทารกได้แม้ในมารดาที่มีการขาดไอโอดีน1 อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รับประทานไอโอดีนวันละ 250 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับมารดาที่ให้นมบุตร2,3 จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า ระหว่างการที่มารดาให้นมลูกจำเป็นต้องกินไอโอดีนหรือไม่ คำตอบคือ หากมารดาอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดการขาดไอโอดีน การกินไอโอดีนจะมีความจำเป็น เพื่อลดการขาดไอโอดีนในมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับข้อเสียของการกินไอโอดีน หากมารดารับประทานไอโอดีนขนาดเกินกว่า 500 ไมโครกรัมต่อวันเป็นเวลานาน4 อาจพบการเกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำในทารกได้ เมื่อพิจารณาถึงผลดีและผลเสียในการรับประทานไอโอดีนจึงควรมีข้อมูลของการขาดสารไอโอดีนในพื้นที่นั้นๆ

??????????? สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลของกรมอนามัยสตรีตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีนถึงร้อยละ 52.55 ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรควรรับประทานไอโอดีนตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเมื่อเทียบปริมาณความต้องการไอโอดีนแล้ว สตรีตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรควรบริโภคเกลือประมาณวันละ 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชา โดยเกลือเสริมไอโอดีน?5 กรัมจะมีการเติมไอโอดีนในสัดส่วน 30-50 ส่วนในหนึ่งล้านส่วน คิดเป็นปริมาณไอโอดีนเท่ากับ 150 – 250 ไมโครกรัม สำหรับการบริโภคอาหารที่มีไอโอดีน ได้แก่ ปลาทะเล 1 ขีด (100 กรัม) จะมีไอโอดีนประมาณ 50 ไมโครกรัม สาหร่ายทะเล 1 ขีด (100 กรัม) จะมีไอโอดีนประมาณ 200 ไมโครกรัม เกลือทะเล 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชาโดยทั่วไปจะมีไอโอดีนในสัดส่วน 2-5 ส่วนในหนึ่งล้านส่วน คิดเป็นปริมาณไอโอดีนประมาณ 10-25 ไมโครกรัม จะเห็นว่าจากการรับประทานอาหารตามปกติมีโอกาสขาดไอโอดีนได้ ในพื้นที่ที่มีการขาดไอโอดีนอาจพิจารณาการเสริมไอโอดีนในน้ำดื่ม โดยใช้สารละลายโปแตสเซียมไอโอเดท หยดในน้ำดื่มของโรงเรียนหรือครัวเรือน โดยคำนวณเมื่อดื่มน้ำวันละ 1 ลิตรให้ได้รับสารไอโอดีนประมาณ 150 – 200 ไมโครกรัม6

เอกสารอ้างอิง

  1. Zimmermann MB. The impact of iodised salt or iodine supplements on iodine status during pregnancy, lactation and infancy. Public Health Nutr 2007;10:1584-95.
  2. Azizi F, Smyth P. Breastfeeding and maternal and infant iodine nutrition. Clin Endocrinol (Oxf) 2009;70:803-9.
  3. Andersson M, de Benoist B, Delange F, Zupan J. Prevention and control of iodine deficiency in pregnant and lactating women and in children less than 2-years-old: conclusions and recommendations of the Technical Consultation. Public Health Nutr 2007;10:1606-11.
  4. Eastman CJ. Iodine in breastfeeding. Aust Prescr 2016;39:4.
  5. รายงานประจำปี กรมอนามัย 2556. In: กองแผนงาน กรมอนามัย, ed. ประเทศไทย: กรมอนามัย; 2556.
  6. แหล่งอาหารไอโอดีนตามธรรมชาติ. (Accessed November 21, 2014, at http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/iodine/chapter1/food.html.)

การเริ่มให้ลูกกินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกลดอัตราการตายของทารกได้

22

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ??แม้เราจะทราบว่านมแม่มีประโยชน์มาก แต่ความเข้าใจ ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นการให้นมแม่ทันทีหลังคลอดเมื่อพร้อม ยังมีการปฏิบัติได้ไม่มาก ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การให้ทารกได้เริ่มกินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะลดอัตราการตายของทารกได้เมื่อเทียบกับการให้ทารกกินนมแม่หลังจากหนึ่งชั่วโมงแรกไปแล้ว โดยหากให้ทารกกินนมในชั่วโมงที่ 2 ถึงชั่วโมงที่ 23 หลังคลอด ทารกจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าการให้ทารกกินนมในชั่วโมงแรกหลังคลอด 1.4 เท่า (95%CI 1.12-1.77)1 ดังนั้น ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ มารดา ครอบครัว และสังคมคงจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของเวลาที่ควรเริ่มต้นการให้ทารกกินนมแม่ ซึ่งควรจะให้ทันทีหลังคลอดหากทารกมีความพร้อมและไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่จะเป็นอันตราย

เอกสารอ้างอิง

  1. Group NS. Timing of initiation, patterns of breastfeeding, and infant survival: prospective analysis of pooled data from three randomised trials. Lancet Glob Health 2016;4:e266-75.

 

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในยุคนี้

IMG_1697

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ??ก่อนที่จะคิดวางแผนลงทุนในเรื่องใด คงต้องมีความเข้าใจถึงประโยชน์ของสิ่งที่จะลงทุนก่อน ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น จะลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของทารก เพิ่มความเฉลียวฉลาด เพิ่มความสำเร็จในการศึกษา และเพิ่มความสำเร็จในการหารายได้เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่1 ขณะที่ไม่พบผลเสียใดๆ จากนมแม่ในทารกปกติ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการลงทุน การสร้างให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง เฉลียวฉลาด และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงเห็นธนาคารโลก (World Bank) ที่ตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากการขจัดความยากจนและกระตุ้นความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของบรรดาสมาชิก สนับสนุนให้ลงทุนในการสร้างคนจากการเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Hansen K. Breastfeeding: a smart investment in people and in economies. Lancet 2016;387:416.

การผ่าตัดคลอด อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

S__38208154

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ??การผ่าตัดคลอด ในอดีตถือว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องมีข้อบ่งชี้ชัดเจนเนื่องจากความเสี่ยงของการผ่าตัดคลอดสูงกว่าการให้มารดาคลอดปกติทางช่องคลอด แต่เมื่อการแพทย์พัฒนาขึ้น ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดคลอดลดลง ทำให้ความใส่ใจและเข้มงวดในข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดลดลงด้วย เห็นได้จากอัตราการผ่าตัดคลอดที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในโรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชน ในโรงพยาบาลรัฐบาลนั้น อัตราการผ่าตัดคลอดโดยรวมจะพบราวร้อยละ 30-50 ขณะที่ในโรงพยาบาลเอกชนพบอัตราการผ่าตัดคลอดราวร้อยละ 70-90 ซึ่งการผ่าตัดคลอดที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งเป็นจากความกังวลในเรื่องการฟ้องร้อง ซึ่งการที่แพทย์ดูแลการคลอดปกติ บางครั้งหากเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ได้คาดคิด มารดาและครอบครัวจะตั้งคำถามว่า ?ทำไม่หมอไม่ตัดสินใจผ่าตัดคลอด? ความเชื่อและค่านิยมลึกๆ ที่ยังฝังใจมารดาและครอบครัวว่า การผ่าตัดคลอดน่าจะมีความปลอดภัยในการคลอดมากกว่าจึงอาจมีผลต่ออัตราการผ่าตัดคลอดด้วย ผลของการผ่าตัดคลอดนั้น นอกจากความเสี่ยงต่างๆ ของมารดาและทารกที่พบสูงขึ้นแล้ว ยังพบว่ามีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยมารดาที่ผ่าตัดคลอดจะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้ากว่า การเจ็บแผลที่มากกว่าส่งผลต่อการขยับตัว การจัดท่า และการนำทารกเข้าเต้าได้ไม่ดี ซึ่งส่งผลต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วกว่าที่ควร1,2 การที่พบว่าอัตราการผ่าตัดคลอดเพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลเสียและเป็นอุปสรรคที่สำคัญอันหนึ่งต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Hobbs AJ, Mannion CA, McDonald SW, Brockway M, Tough SC. The impact of caesarean section on breastfeeding initiation, duration and difficulties in the first four months postpartum. BMC Pregnancy Childbirth 2016;16:90.
  2. Buranawongtrakoon S, Puapornpong P. Comparison of LATCH scores at the second day postpartum between mothers with cesarean sections and those with normal deliveries. Thai J Obstet and Gynaecol 2016;24:6-13.