คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยลดความเครียดของมารดา

56

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?ประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังการคลอดบุตรมีประโยชน์หลายอย่างต่อทารกที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว คือ การสัมผัสผิวระหว่างมารดากับทารกจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาท ช่วยให้ทารกควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ดีลดปัญหาเรื่องทารกตัวเย็น ลดภาวะเครียดให้กับทารกจากการปรับตัวจากสิ่งแวดล้อมในครรภ์มาเผชิญกับสิ่งแวดล้อมนอกมดลูก ซึ่งการลดภาวะเครียดของทารกจะทำให้ทารกไม่มีการใช้พลังงานสูง ระดับน้ำตาลที่จะใช้สร้างพลังงานจึงไม่ได้ใช้ไปมาก จึงช่วยลดการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในทารกแรกเกิดด้วย นอกจากนี้ การโอบกอดเนื้อแนบเนื้อยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก ทำให้เกิดความรักความผูกผันซึ่งกันและกัน โดยผ่านฮอร์โมนแห่งความรัก ได้แก่ ออกซิโตซิน ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของทารกให้ดีขึ้นจากการแลกเปลี่ยนแบคทีเรียที่ผิวหนังของมารดากับทารก ซึ่งจะเป็นการสร้างแบคทีเรียถิ่นที่ผิวหนังของทารกที่จะช่วยป้องกันแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค สำหรับประโยชน์แก่มารดา มีการศึกษาพบว่า มารดาที่โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและให้ทารกได้เริ่มกินนมหลังการผ่าตัดคลอดช่วยในลดความเครียดให้กับมารดาได้1 ซึ่งสิ่งนี้แสดงถึงประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อที่นอกจากมีประโยชน์แก่ทารกแล้ว ยังให้ประโยชน์กับมารดาด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Yuksel B, Ital I, Balaban O, et al. Immediate breastfeeding and skin-to-skin contact during cesarean section decreases maternal oxidative stress, a prospective randomized case-controlled study. J Matern Fetal Neonatal Med 2016;29:2691-6.

 

การแพทย์ทางเลือกช่วยส่งเสริมนมแม่

IMG_1696

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?การเลือกการดูแลรักษาด้วยการแพทย์สนับสนุน (complementary medicine) หรือการแพทย์ทางเลือก (alternative medicine) มีเพิ่มขึ้นในการดูแลรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพรวมทั้งการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย แนวโน้มของกระแสการดูแลด้วยการใช้การแพทย์ผสมผสานที่ใช้ทั้งศาสตร์ของการแพทย์แผนปัจจุบันร่วมกับการใช้สมุนไพร การผ่อนคลาย ก็มีมากขึ้น ร่วมกับมีการใช้การแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ให้เป็นทางเลือกในการดูแลรักษาก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน มีการศึกษาว่า การใช้การแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือกช่วยในการกระตุ้นนมแม่ในมารดาที่คลอดใกล้ครบกำหนดหรือเพิ่งเริ่มครบกำหนดว่ามีความปลอดภัยและอาจช่วยกระตุ้นนมแม่ได้

? ? ? ? ? ? ? สำหรับสมุนไพรไทย ได้แก่ ขิง ก็พบว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่มีคุณค่า โดยพบว่าสามารถช่วยกระตุ้นนมแม่ได้ในระยะแรกหลังคลอดได้1 นอกจากนี้ การประคบเต้านมด้วยลูกประคบ การนวดเต้านมและ/หรือการบีบน้ำนมด้วยมือยังช่วยในการลดการตึงคัดเต้านมได้2 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรละเลยการให้ความสนใจในศาสตร์ของการแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือก ที่อาจเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยเหลือมารดาให้สามารถให้นมแม่ได้ และควรส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยให้เกิดองค์ความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ในศาสตร์เหล่านี้เพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Paritakul P, Ruangrongmorakot K, Laosooksathit W, Suksamarnwong M, Puapornpong P. The Effect of Ginger on Breast Milk Volume in the Early Postpartum Period: A Randomized, Double-Blind Controlled Trial. Breastfeed Med 2016;11:361-5.
  2. Witt AM, Bolman M, Kredit S. Mothers Value and Utilize Early Outpatient Education on Breast Massage and Hand Expression in Their Self-Management of Engorgement. Breastfeed Med 2016;11:433-9.

 

มารดารู้สึกไม่ดีที่ต้องให้ลูกกินนมผง

img_2125

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การที่ทารกได้กินนมแม่ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุด ซึ่งในปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างกว้างขวาง และเป็นกระแสสังคมที่รับทราบอย่างทั่วกันถึงคุณค่าของนมแม่ มีการศึกษาถึงความรู้สึกของมารดาที่ให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก พบว่า มารดาที่ให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกรู้สึกผิด ไม่พึงพอใจ และเป็นตราบาปติดตัวที่ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของมารดา1 ดังนั้น การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บุคลากรควรมีความเข้าใจถึงสิ่งนี้ การตำหนิมารดาที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่ควรมองปัญหาให้รอบด้าน ช่วยสนับสนุนมารดาให้ได้ให้นมแม่บนพื้นฐานของบริบทของแต่ละคน และยอมรับหากมีความจำเป็นต้องใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งจะไม่เป็นการซ้ำเติมความรู้สึกผิดหรือไม่ดีที่มารดาไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Fallon V, Komninou S, Bennett KM, Halford JC, Harrold JA. The emotional and practical experiences of formula-feeding mothers. Matern Child Nutr 2016.

สิทธิของทารกที่จะได้กินนมแม่

img_2199

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? อย่างที่ทราบกันแล้วว่า นมแม่มีประโยชน์ต่อทั้งมารดาและทารก โดยการกินนมแม่ช่วยชีวิตทารกมากกว่า 800000 รายต่อปี และช่วยมารดาให้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม 20000 รายต่อปีทั่วโลก1 องค์การสหประชาชาติจึงถือว่าเป็นสิทธิของทารกที่จะมีชีวิต อยู่รอด และมีพัฒนาการที่ดีผ่านอาหารที่ทรงคุณค่าและมีความปลอดภัย คือ การได้รับนมแม่ ดังนั้น จึงเสนอว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะสนับสนุน ส่งเสริม และปกป้องสิทธิของทารกนี้ โดยการให้การดูแลบริการให้ทารกได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สนับสนุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการให้นมแม่ รวมทั้งปกป้องการรับรู้ที่อาจบิดเบือนข้อเท็จจริงจากการตลาดนมผงดัดแปลงสำหรับทารกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สิทธิการได้กินนมแม่เป็นสิทธิที่แท้จริงที่ได้ให้แก่ทารกแรกเกิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Victora CG, Bahl R, Barros AJ, et al. Breastfeeding in the 21st century: epidemiology, mechanisms, and lifelong effect. Lancet 2016;387:475-90.

25 ปีของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก

img_2120

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 25 ปีของการเริ่มนวัตกรรมของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งเวลา 25 ปีถือว่าเป็นเวลานานพอควร องค์การอนามัยโลกในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลและเป็นผู้นำในเรื่องสุขภาพได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนบทเรียนในการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดขึ้นได้ดี แต่ยังต้องการการสนับสนุนให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในประเทศไทย อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวยังต่ำคือร้อยละ 12 และปัจจัยเรื่องมารดากลับไปทำงานเป็นสาเหตุหลักในการที่มารดาไม่สามารถให้นมลูกอย่างเดียวจนครบหกเดือนได้1 ดังนั้น การส่งเสริมให้มีสวัสดิการทางสังคมที่ช่วยให้มารดาสามารถลาเลี้ยงดูบุตร ให้นมแม่อย่างเดียวจนถึงหกเดือนได้ โดยมีการจ่ายเงินเดือนหรือสวัสดิการสังคม จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวของไทยได้ ซึ่งคิดเป็นการลงทุนทางด้านสุขภาพที่คุ้มค่าที่สุดในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Manolerdthewan W, Raungrongmorakot K, Ketsuwan S, Wongin S. Factor effecting on breastfeeding success in infants up to 6 month of age in Nakhon Nayok province. J Med Health Sci 2009;16:116-23.