คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การจัดทีมเฉพาะกิจช่วยมารดาให้นมลูกในกลุ่มทารกคลอดก่อนกำหนด

IMG_3460

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ทารกที่คลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่มักจำเป็นต้องได้รับการดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต ซึ่งกระบวนการในการส่งเสริมให้ทารกได้กินนมแม่นั้นมีความละเอียดและยุ่งยากมากกว่ามารดาที่คลอดปกติครบกำหนดและทารกไม่มีภาวะแทรกซ้อน การจัดทีมเฉพาะกิจที่จะให้คำปรึกษาแก่มารดาตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดอาจมีความจำเป็น มีการศึกษาพบว่า การตั้งทีมเฉพาะกิจที่ให้คำปรึกษาและดูแลส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่ต้องอยู่ที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤตนั้น ช่วยให้อัตราการกินนมแม่ของทารกกลุ่มนี้สูงขึ้น1 ดังนั้น การวางแผนบุคลากรหรือการจัดทีมเฉพาะกิจในการให้คำปรึกษาอาจเป็นนวัตกรรมที่จะพัฒนาการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดากลุ่มที่คลอดทารกก่อนกำหนดได้ สิ่งนี้อาจช่วยส่งเสริมแนวคิดในการพัฒนาบริการต่าง ๆ ควรทำร่วมกับการเก็บข้อมูลเพื่อเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ตามแนวทางของการพัฒนาประเทศไทย Thailand 4.0

เอกสารอ้างอิง

  1. Sethi A, Joshi M, Thukral A, Singh Dalal J, Kumar Deorari A. A Quality Improvement Initiative: Improving Exclusive Breastfeeding Rates of Preterm Neonates. Indian J Pediatr 2017;84:322-5.

 

การจัดพี่เลี้ยงช่วยมารดาให้นมลูก

IMG_3530รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ?ในมารดาที่มีบุตรคนแรกยังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มักจะพบปัญหาในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก โดยอาจพบเรื่องการจัดท่าเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม การเจ็บหัวนม และความวิตกกังวลในอาการต่าง ๆ ของทารก ดังนั้น จึงมีแนวคิดเรื่องการจัดพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาช่วยมารดาให้นมลูก ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การจัดระบบพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาช่วยมารดาแนะนำเรื่องการให้นมลูกนั้น สามารถช่วยให้มารดาที่มีบุตรคนแรกเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกได้เพิ่มขึ้น แต่หลังจากหกสัปดาห์ไปแล้วไม่พบความแตกต่างกันของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 สิ่งนี้น่าจะบ่งบอกว่า มารดาที่มีบุตรคนแรกอาจจะขาดประสบการณ์ในการให้นมลูก แต่เมื่อได้รับคำแนะนำจนสามารถเริ่มให้นมลูกได้ดีแล้ว ปัจจัยด้านอื่น ๆ อาจเป็นตัวตัดสินการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงต้องเน้นให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบถึงประโยชน์ของการเป็นพี่เลี้ยงแนะนำการให้นมลูกน่าจะสูงสุดในช่วงสองสัปดาห์แรก

เอกสารอ้างอิง

  1. Scott S, Pritchard C, Szatkowski L. The impact of breastfeeding peer support for mothers aged under 25: a time series analysis. Matern Child Nutr 2017;13.

 

มารดาที่ให้นมลูกยากมักเริ่มให้นมลูกช้า

img_2204

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาที่มีลูกคนแรกจะยังไม่มีประสบการณ์ในการให้นมลูก อาจถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด แต่สำหรับมารดาที่เคยคลอดบุตรและเคยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาแล้ว ประสบการณ์จากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในลูกคนก่อนมีผลต่อการเลี้ยงลูกในปัจจุบันด้วย โดยหากมีประวัติให้นมลูกหรือเข้าเต้ายาก มารดามักเริ่มการให้นมลูกช้า1 ทำให้อาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในลูกคนปัจจุบันด้วย สิ่งนี้อาจเป็นผลมาจากความวิตกกังวล ความกลัวการล้มเหลว หรือการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Schafer EJ, Campo S, Colaizy TT, Mulder PJ, Ashida S. Influence of Experiences and Perceptions Related to Breastfeeding One’s First Child on Breastfeeding Initiation of Second Child. Matern Child Health J 2017.

ข้อมูลภาวะลิ้นติดของทารกแรกเกิดในประเทศไทย

dsc00797

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?จากการศึกษาภาวะลิ้นติดของทารกแรกเกิดในกลุ่มทารกที่คลอดปกติไม่มีภาวะแทรกซ้อนในประเทศไทย 1649 รายตรวจพบภาวะลิ้นติดร้อยละ 14.9 โดยหากแบ่งอุบัติการณ์ตามรุนแรงเป็นภาวะลิ้นติดเล็กน้อยพบร้อยละ 7.5 ภาวะลิ้นติดปานกลางพบร้อยละ 5.7 และภาวะลิ้นติดรุนแรงพบร้อยละ 1.61 โดยในทารกที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางและรุนแรงมีคะแนนการเข้าเต้า (LATCH score) ที่น้อยกว่า 8 มากกว่าทารกปกติ 1.4 เท่า2 ภาวะลิ้นติดปานกลางและรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาก่อนกลับบ้านจะเป็นสาเหตุอันดับที่สองของการเจ็บหัวนมของมารดาที่สัปดาห์แรกหลังคลอดคือร้อยละ 23.2 (รองจากการจัดท่าหรือเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสมที่พบร้อยละ 72.3) โดยทั่วไป การรักษาภาวะลิ้นติดทำได้โดยการผ่าตัดพังผืดใต้ลิ้นออก (frenotomy) ให้ทารกสามารถแลบลิ้นออกมาได้ดีขึ้น (ระยะจากจุดยึดติดของพังผืดใต้ลิ้นถึงปลายลิ้นควรจะมีระยะประมาณ 12 มิลลิเมตรเท่ากับเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะลิ้นติดเล็กน้อยที่ไม่มีผลต่ออาการเจ็บหัวนมของมารดาและไม่มีผลต่อคะแนนการเข้าเต้า) การผ่าตัดสามารถทำได้ที่แผนกผู้ป่วยนอก โดยการทำการใช้กรรไกรหรือจี้ไฟฟ้าตัดพังผืดออก ทารกไม่จำเป็นต้องใช้ยาดมสลบ หลังการผ่าตัดทารกสามารถกินหรือดูดนมแม่ได้ทันที และพบว่าอาการเจ็บหัวนมและคะแนนการเข้าเต้าของทารกดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ3 ดังนั้น ภาวะลิ้นติดปานกลางและรุนแรงจึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่บุคลากรทางการแพทย์ควรเอาใจใส่ในการตรวจดูช่องปากทารกทุกราย เนื่องจากมารดาที่มีทารกมีภาวะลิ้นติดมีความเสี่ยงในการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสัปดาห์แรกเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า4 เหตุผลอาจจะเป็นจากทารกที่ไม่ได้รับการรักษาภาวะลิ้นติด ทำให้มารดาเจ็บหัวนม และการเจ็บหัวนมของมารดาอาจนำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ หัวนมแตก เต้านมอักเสบและฝีที่เต้านมได้ แต่ในมารดาบางคนที่สามารถทนให้นมต่อไปได้ระยะหนึ่งมีรายงานว่าประมาณ 2 เดือน พังผืดใต้ลิ้นจะยึดออกได้ ร่วมกับทารกที่โตมากขึ้น อมหัวนมและลานนมได้ลึกขึ้นจากขนาดของปากที่ใหญ่ขึ้น เมื่อเปรียบเทียบผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของทารกกลุ่มนี้กับทารกปกติไม่พบความแตกต่างกันของระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่5 ทำให้การผ่าตัดรักษาหลังอาจไม่ได้ประโยชน์ สำหรับผลของภาวะลิ้นติดของทารกแรกเกิดในระยะยาว มีรายงานว่าความสัมพันธ์การออกเสียงในการพูด โดยอาจพบมีความยากในการออกเสียงอักษรภาษาอังกฤษ T, D, Z, S, N, J, L, CH, TH, DG และ R 6,7 แต่ไม่ได้พบว่าเป็นสาเหตุของการพูดช้า6

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.
  3. Wongin S, Puapornpong P, Baiya N, Panwong W. Comparison of efficacy of breastfeeding in tongue-tie newborns before and after frenotomy. J Med Health Sci 2017 (in press).
  4. Ricke LA, Baker NJ, Madlon-Kay DJ, DeFor TA. Newborn tongue-tie: prevalence and effect on breast-feeding. J Am Board Fam Pract 2005;18:1-7.
  5. Buryk M, Bloom D, Shope T. Efficacy of neonatal release of ankyloglossia: a randomized trial. Pediatrics 2011;128:280-8.
  6. Lalakea ML, Messner AH. Ankyloglossia: does it matter? Pediatric Clinics of North America 2003;50:381-97.
  7. Chaubal TV, Dixit MB. Ankyloglossia and its management. J Indian Soc Periodontol 2011;15:270-2.

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะลิ้นติด

tongue-tie swu

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ?ก่อนอื่นต้องให้ข้อมูลของภาวะลิ้นติดของทารกแรกเกิดที่ทำให้เกิดปัญหามารดาเจ็บหัวนมขณะให้นมลูกและทำให้ทารกดูดนมได้ไม่ดี โดยแสดงให้เห็นถึงขนาดของปัญหาที่พบในประเทศไทย โดยรวบรวมจากงานวิจัยที่ได้มีการศึกษาจากโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์1 โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนที่พบปัญหาในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เท่าที่มีข้อมูลแก่สังคมและผู้ที่มีบทบาทรับผิดชอบทั้งในด้านการแพทย์ การบริหารงานระบบสุขภาพ รวมทั้งรัฐบาล เพื่อสร้างกระแสความใส่ใจในปัญหาและขนาดของปัญหา จากนั้น สร้างแนวทางการดูแลรักษา วางระบบให้แก่หน่วยงานสุขภาพ บทบาทของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและโรงพยาบาลชุมชนควรจะมีบทบาทในการคัดกรองให้การวินิจฉัยเบื้องต้นและส่งต่อมาที่โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งต้องมีการจัดอบรมบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและโรงพยาบาลชุมชนให้มีศักยภาพในการให้การวินิจฉัย และอบรมบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ให้ทั้งมีศักยภาพในการวินิจฉัยและให้การรักษาและเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มโรงพยาบาลปฐมภูมิ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ และโสต ศอ นาสิกแพทย์ที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และความตระหนักให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และจัดอบรมหลักสูตรรระยะสั้นเพื่อช่วยให้เกิดการดูแลรักษาในระบบและจัดต่อเนื่องจนเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อไป โดยเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาไปพร้อมกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.