รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? สาเหตุของการปฏิเสธเต้านมของลูกเกิดได้ในหลายกรณี ซึ่งจัดเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ การเจ็บป่วยไม่สบายตัว การมีน้ำนมลดลง การสับสนระหว่างการดูดจุกนมกับการดูดเต้า บรรยากาศในการให้นมลูกไม่เหมาะสม และทารกแยกห่างจากมารดานาน ดังนั้นสิ่งที่มารดาควรปฏิบัติหากทารกปฏิเสธเต้านม คือ
ตรวจสอบว่าทารกมีความเจ็บป่วยหรือไม่สบายตัวที่ใด ให้การดูแลตามสาเหตุของความเจ็บป่วย ก่อนเสมอ
หากน้ำนมน้อยลง จากการให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ควรหยุดการให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ให้ลูกกระตุ้นกินนมจากเต้านมแทน หากทารกยังสับสนระหว่างจุกนมกับการกินนมจากเต้าด้วย อาจใช้การบีบหรือการปั๊มนมเพื่อช่วยกระตุ้นน้ำนมไปก่อน อาจร่วมกับการให้นมแม่โดยป้อนจากถ้วยหรือใช้ช้อนป้อน ร่วมกับการให้ลูกกินนมจากเต้าในขณะที่ลูกง่วงหลับซึ่งจะลดการปฏิเสธเต้านม
ปรับเปลี่ยนท่าที่ให้นมทารก เพราะท่าบางท่าอาจช่วยให้ทารกรู้สึกสบายตัวมากกว่าในการกินนมจากเต้า
การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ โดยให้ผิวของทารกสัมผัสกับผิวของมารดาโดยตรงจะช่วยกระตุ้นความรู้สึก การรับรู้ความรักความใส่ใจของมารดาที่ส่งผ่านไปให้กับบุตร ทารกจะรับรู้ได้และรู้สึกสงบ ช่วยให้การเข้าเต้าและกินนมได้ดีขึ้น
สร้างบรรยากาศที่ดี สงบ ร่มเย็น ปราศจากสิ่งดึงดูดความสนใจต่อสิ่งอื่น ๆ ของทารก ซึ่งจะช่วยให้ทารกมีสมาธิกับการกินนมจากเต้า
? ? ? ? ? ?แต่หากมารดาปฏิบัติเบื้องต้นตามข้อแนะนำนี้แล้วยังไม่ได้ผล ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อร่วมสังเกตปฏิกิริยาของมารดาและทารกที่จะให้คำแนะนำเฉพาะรายต่อไป
เอกสารอ้างอิง
The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การปฏิเสธเต้านมเป็นสิ่งที่พบเจอได้ในระหว่างที่มารดาให้นมลูก การปฏิเสธเต้านมของลูกไม่ได้พบในทารกทุกคน และการปฏิเสธเต้านมของลูกนั้นไม่ได้หมายความว่าลูกพร้อมที่จะหย่านม แต่สาเหตุของการปฏิเสธเต้านมของลูกเกิดได้ในหลายกรณี ซึ่งมารดาควรรับทราบเพื่อจะได้ให้การดูแลลูกได้อย่างเหมาะสมหากมีการปฏิเสธเต้านม สาเหตุของการปฏิเสธเต้านมที่พบได้บ่อย ได้แก่
การที่ทารกเจ็บในช่องปาก อาจจะเกิดจากการที่ฟันจะขึ้น หรือมีการติดเชื้อราในช่องปาก หรือจากการเป็นหวัด
การที่ทารกมีการอักเสบติดเชื้อในหู ซึ่งจะทำให้ทารกเกิดอาการปวดขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในช่องหูในช่วงที่ทารกดูดนม
การเจ็บของทารกจากการอุ้มทารกในท่าบางท่า บางครั้งทารกอาจเจ็บหัวไหล่จากการปลูกฝีหรือฉีดวัคซีน ท่าอุ้มบางท่าที่กดบริเวณที่ฉีดวัคซีนทำให้ทารกเจ็บ การปรับเปลี่ยนท่าจะช่วยให้ทารกสงบและกลับมากินนมได้
การเป็นหวัด หรือมีอาการคัดจมูก ทำให้ทารกหงุดหงิดหรืออึดอัดขณะที่ทารกดูดนม
การที่มารดามีน้ำนมลดน้อยลง จากการที่ให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวดนมและจุกนม ทำให้ลูกติดความสบายจากการดูดจุกนม เกิดการสับสนระหว่างการดูดจุกนมกับการดูดนมจากเต้า ซึ่งส่งผลทำให้ทารกปฏิเสธเต้านม
การที่มีสิ่งที่รบกวนความสนใจในระหว่างการกินนมของทารก เช่น เสียงที่ดัง หรือแสงที่สว่างจ้าจนเกินไป หรือสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่ดึงดูดความสนใจของทารก
การที่มารดาแยกทารกออกจากเต้าขณะที่ทารกกำลังดูดนมบ่อย ๆ หรือซ้ำ ๆ ซึ่งส่งผลทำให้ทารกเกิดปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อความเครียด โดยการปฏิเสธเต้านม
การตอบสนองต่อปฏิกิริยาของมารดาเมื่อทารกกัดหัวนม ซึ่งหากมารดามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อทารกที่เป็นความโกรธ หรือพูดจาก้าวร้าว สิ่งเหล่านี้จะทำให้ทารกเกิดการต่อต้านโดยการปฏิเสธเต้านมได้
การที่มารดาแยกจากทารกนาน ทารกเกิดความรู้สึกเหินห่าง ไม่คุ้นเคย
การที่ทารกรู้สึกไม่พอใจหรือเศร้าสร้อย จากการที่มีการทะเลาะกันของคนในบ้านหรือผู้ใกล้ชิดที่เกิดเสียงดังจนส่งผลต่อความรู้สึกและการรับรู้ของทารก ทารกอาจแสดงปฏิกิริยาต่อต้านโดยการปฏิเสธเต้านมได้
เอกสารอ้างอิง
The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การเจ็บหัวนมเป็นอาการที่พบได้บ่อยในมารดาหลังคลอด โดยเฉพาะมารดาที่คลอดบุตรคนแรกยังไม่มีประสบการณ์ในการให้นมลูก เมื่อให้นมลูกใหม่ ๆ หัวนมจะเสียดสีกับริมฝีปากและลิ้นทารก ทำให้มารดาเจ็บหัวนมได้ ซึ่งอาการเจ็บหัวนมนี้มักเป็นตอนเริ่มให้นมใหม่และดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ที่พบได้บ่อยที่เป็นสาเหตุใหญ่อีกสาเหตุหนึ่งคือ การจัดท่าให้นมลูกที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเมื่อแก้ไขท่าในการให้นมลูกแล้ว อาการมักจะหายในหนึ่งสัปดาห์1 ในกรณีที่อาการเจ็บหัวนมไม่หาย เจ็บระหว่างการดูดนมและหลังจากลูกดูดนมไปแล้วก็ยังเจ็บ เจ็บจี๊ดเข้าไปในหน้าอกหรือเต้านม ร่วมกับมีลักษณะของหัวนมแดงหรือชมพู เป็นสะเก็ด เป็นมัน และอาจมีหัวนมแตก โดยอาจพบร่วมกับทารกมีฝ้าในปาก ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อรา ซึ่งการดูแลรักษาจำเป็นต้องรักษาทั้งมารดาและทารก รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เรื่องความสะอาดของชุดชั้นใน เครื่องในการปั๊มนมหรือให้นม ของเล่นลูกที่ใช้อมเข้าปากบ่อย ๆ รวมทั้งการล้างมือมารดาและทารกบ่อย ๆ เนื่องจากการดูแลรักษาใช้เวลานาน และหากไม่ตัดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มารดาจะกลับมาติดเชื้อราและเจ็บปวดหัวนมหรือเต้าได้อีก และนำไปสู่การท้อและหยุดให้นมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Laosooksathit W, Hanprasertpong T, Ketsuwan S. Comparison of Breastfeeding Outcomes Between Using the Laid-Back and Side-Lying Breastfeeding Positions in Mothers Delivering by Cesarean Section: A Randomized Controlled Trial. Breastfeed Med 2017;12:233-7.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? ฝีที่เต้านมมักเกิดหลังจากมีการอักเสบของเต้านม ทำให้การระบายน้ำนมมีความยากลำบากและมีเชื้อโรคเข้าไปร่วมแทรกซ้อนทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองในเต้านม โดยอาการของมารดาที่มีฝีที่เต้านมจะมีอาการรุนแรงกว่าเต้านมอักเสบเนื่องจากจะมีหนองขังอยู่ในเต้านม มารดามักมีไข้สูงต่อเนื่อง โดยอาจพบมีอาการหนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ หากตรวจที่เต้านมมารดาจะพบลักษณะของการอักเสบคือ มีการบวม แดง และร้อน กดเจ็บ ร่วมกับคลำได้ก้อนของฝีที่ขังอยู่ใต้ผิวหนังในเต้านม ซึ่งหากสงสัยภาวะนี้ การตรวจยืนยันด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะช่วยในการวินิจฉัยและช่วยในการติดตามผลการรักษาได้ด้วยโดยสามารถวัดขนาดของฝีหลังการรักษา โดยหลักของการรักษาคือ ต้องระบายฝีออกเพื่อช่วยให้ยาปฏิชีวนะที่ให้สามารถเข้าถึงและรักษาอาการได้ดี ในสมัยก่อน การรักษาทำโดยการผ่าเปิดแผลเพื่อระบายฝีที่เต้านม แต่ในปัจจุบันแนะนำให้ใช้การดูดหนองออกโดยใช้เข็มเจาะดูด โดยอาจจะใช้การคลำแล้วเจาะดูด หรือเจาะดูดภายใต้การทำคลื่นเสียงความถี่สูงที่จะช่วยในการบอกตำแหน่งของฝี ซึ่งการเจาะดูดฝีออกนี้จะมีแผลเล็กกว่าและทำความเสียหายหรือรบกวนท่อน้ำนมน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การรักษาฝีที่เต้านมยังคงต้องใช้เวลานานและต่อเนื่อง โดยแนะนำว่าขณะรักษามารดาควรให้นมลูกเพื่อระบายน้ำนม1 แต่ในทางปฏิบัติมักมีความลำบากเนื่องจากเมื่อมีฝีและมีการอักเสบของเต้านม บริเวณลานนมมักจะอักเสบและแข็ง ซึ่งทำให้การอมหัวนมและลานนมของทารกทำได้ยาก มารดาจำเป็นต้องให้ความพยายาม การนวดร่วมกับการประคบร้อนที่เต้านมยังคงช่วยในการระบายน้ำนมด้วย สำคัญที่สุด หากหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดท่อน้ำนมอุดตัน เต้านมอักเสบ ก็จะลดการเกิดฝีที่เต้านมได้
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
?
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? เต้านมอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างหนึ่งที่พบเป็นปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการขังของน้ำนมที่ไม่มีการระบายที่เกิดจากการเว้นระยะการให้นมบุตรนาน เกิดการอุดตันของท่อน้ำนมและมีการติดเชื้อร่วมแทรกซ้อนไปด้วย ซึ่งเชื้อที่มักเข้าไปทำให้เกิดการติดเชื้อของเต้านมจะเป็นเชื้อโรคที่พบบริเวณผิวหนัง โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในเต้านมได้ ได้แก่ การมีหัวนมแตก ซึ่งมักเกิดจากการจัดท่าการให้นมลูกที่ไม่เหมาะสม สำหรับอาการที่มารดาจะสังเกตได้ว่ามีเต้านมอักเสบคือ การเจ็บบริเวณเต้านม มีอาการบวม แดง และร้อน โดยอาจพบร่วมกับการมีก้อนที่เต้านมจากการขังของน้ำนมในท่อน้ำนม มารดามักมีไข้ ซึ่งหากอาการไข้ของมารดาเป็นไข้สูงและอยู่นานกว่า 24 ชั่วโมงเป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงความรุนแรงของอาการเต้านมอักเสบที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือดูแลโดยแพทย์1 ก่อนที่ภาวะเต้านมอักเสบจะรุกรามไปเป็นฝีที่เต้านม ส่วนใหญ่เต้านมอักเสบมักเป็นที่เต้านมข้างเดียว โดยพบที่เต้านมข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าที่จะเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง สำหรับหลักการรักษาเต้านมอักเสบ มารดายังจำเป็นต้องให้นมแม่แก่ลูก การระบายน้ำนมออกสม่ำเสมอจะช่วยในการรักษา ร่วมกับหากสงสัยมีการติดเชื้อร่วมด้วยควรให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อ นอกจากนี้ในกรณีที่มีก้อนที่เต้านม การนวดหรือการประคบร้อนให้น้ำนมสามารถระบายออกไปจากการขังได้จะช่วยให้อาการดีขึ้นด้วย จะเห็นว่าสาเหตุของการเกิดเต้านมอักเสบจะคล้ายกับการเกิดท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งหากมารดาป้องกันการเกิดท่อน้ำนมอุดตันได้ก็น่าจะช่วยลดการเกิดเต้านมอักเสบเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)