คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

ลูกแพ้นมแม่ได้หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? หากมีคำถามลูกแพ้นมแม่ได้ไหม โดยทั่วไปทารกจะไม่แพ้นมแม่ แต่ก็พบในทารกที่มีความผิดปกติของเอนไซม์ในการย่อยน้ำนมบางตัวในกรณีมีภาวะ galactosemia อาจทำให้ทารกมีอาการผิดปกติได้เมื่อได้รับนมแม่ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบน้อยมาก สำหรับกรณีที่พบได้บ่อยกว่าคือ การที่ทารกแพ้สารอาหารบางตัวที่มารดารับประทานระหว่างการให้นมแม่ อาหารที่มารดารับประทานจะผ่านการย่อย ดูดซึมเข้ากระแสเลือด และผ่านทางน้ำนมในปริมาณที่หลากหลายแล้วแต่ชนิดของสารอาหาร อาการที่ทารกมีอาจพบอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเป็นมูกเลือด หงุดหงิด ร้องกวน มีผื่นแดง ผิวหนังอักเสบ หากมีอาการรุนแรงอาจพบไอหรือหายใจเร็ว หอบ (พบน้อย) ซึ่งหากมารดาสังเกตว่ารับประทานอาหารประเภทนี้แล้วทารกมีอาการผิดปกติ อาจพิจารณาหยุดอาหารดังกล่าวไปก่อน เว้นไว้สักระยะหนึ่งจึงกลับมาทดลองกินดูใหม่ โดยทั่วไปเมื่อทารกโตขึ้นอาการแพ้จะลดลงได้เอง ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้นับเป็นการแพ้นมแม่โดยตรง การอธิบายให้มารดาและครอบครัวเข้าใจถึงความรู้เหล่านี้ จะทำให้มารดาปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเหมาะสมเมื่อทารกมีอาการผิดปกติ

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

 

หลังคลอด แม่เครียดต้องทำอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?หลังคลอด มารดาต้องปรับตัวต้อนรับลูก ซึ่งเป็นสมาชิกคนใหม่ในครอบครัว มารดาบางคนอาจมีความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การดูแลลูก การให้นมแม่ หรือการดูแลภาระงานต่าง ๆ ในบ้าน จนทำให้มารดาเกิดความเครียดได้ ซึ่งการแก้ไขเรื่องความเครียดนั้น ทำได้หลายวิธี คือ

  • การฝึกผ่อนคลาย ทำจิตใจให้สบาย สร้างบรรยายกาศที่อบอุ่น ไม่เร่งรีบ สบาย ๆ ฝึกควบคุมการหายใจ
  • การพักผ่อนให้เพียงพอ บางครั้ง การที่มารดาพักผ่อนไม่เพียงพออาจส่งผลต่อความเครียดได้
  • การได้เคลื่อนไหว ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย หากมารดาไม่มีข้อห้ามใดหลังคลอดปกติมารดาสามารถออกกำลังกายได้ การออกกำลังกายอย่างพอดีจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายขึ้น
  • การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และให้นมลูกในบรรยากาศที่ผ่อนคลายช่วยในการลดความเครียดให้มารดาได้เช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้การแก้ไขความเครียดด้วยการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ เพราะการใช้วิธีเหล่านี้นอกจากจะเกิดผลเสียแก่มารดาและทารก หลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ไปแล้ว มารดาจะมีภาวะเครียดเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม จากปัญหาการเพิ่มการใช้สารเสพติดและการเพิ่มปัญหาครอบครัวเพิ่มเติมจากเดิมที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม
  • หากมารดาหาทางออกในการรับมือกับปัญหาเรื่องความเครียดไม่ได้ ต้องการคำแนะนำหรือการให้คำปรึกษา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อให้ความช่วยเหลือโดยอาจแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรืออาจต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาหรือลดอาการเครียดในช่วงระหว่างการปรับตัว

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

ต้องดูแลเรื่องอาหารอย่างไร ระหว่างให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การรับประทานอาหารของมารดาในระหว่างการให้นมแม่นั้น มารดาสามารถจะรับประทานอาหารได้ตามปกติเหมือนในช่วงก่อนการตั้งครรภ์ เพียงแต่แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีความหลากหลาย และควรครบห้าหมู่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมารดาจะผ่านไปสู่น้ำนมได้สูงและอาจเกิดอันตรายกับทารกได้ สำหรับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ได้แก่ ชาหรือกาแฟ ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เนื่องจากคาเฟอีนจะผ่านน้ำนมไปยังทารกได้ ทำให้ทารกหงุดหงิด งอแง และไม่ยอมนอน สำหรับอาหารที่ส่งเสริมการกระตุ้นน้ำนม โดยทั่วไปไม่จำเป็น1 เนื่องจากปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการสร้างและการไหลของน้ำนมนั้น คือ การให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ และดูดนมให้เกลี้ยงเต้า แต่ในสังคมไทยยังมีการแนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกขิงหรือหัวปลี ได้แก่ ไก่ผัดขิง หรือแกงเลียง มีรายงานการศึกษาว่าขิงสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมของมารดาได้ในช่วงสามวันแรกหลังคลอดโดยที่หลังจากเจ็ดวันหลังคลอดปริมาณน้ำนมของมารดาจะไม่แตกต่างกัน จากข้อมูลเหล่านี้และการรับประทานอาหารจำพวกขิงหรือหัวปลีก็เป็นอาหารที่มีคุณค่าและเป็นอาหารที่คุ้นเคยกันอยู่ในสังคมไทย ซึ่งการรับประทานอาหารประเภทนี้ไม่ได้มีข้อเสียใด ๆ ดังนั้น หากมารดาต้องการรับประทานก็สามารถรับประทานได้ สำหรับการเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุใด ๆ ให้มารดาในช่วงให้นมบุตรนั้น ส่วนใหญ่แนะนำให้มารดารับประทานธาตุเหล็กและแคลเซียม เนื่องจากแคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการน้ำนมและธาตุเหล็กมักพบน้อยในน้ำนม มารดาจึงควรรับประทานธาตุเหล็กและแคลเซียมตลอดในช่วงระหว่างการให้นมลูก นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังมีการแนะนำให้มารดารับประทานวิตามินดีและดีเอชเอ เนื่องจากอาหารของมารดาในสหรัฐอเมริกาจะมีดีเอชเอต่ำและมารดามักพบการขาดวิตามินดีซึ่งอาจส่งผลเสียแก่ทารกได้ แต่ในประเทศไทยข้อมูลการขาดสารอาหารในมารดายังมีน้อยและยังพบมีการขาดแร่ธาตุหรือสารอาหารแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จึงต้องอาศัยข้อมูลในแต่ละพื้นที่ที่ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อตอบคำถามหรือให้คำแนะนำแก่มารดาในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม?

อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างการให้นมบุตรก็มีความจำเป็น โดยดื่มเมื่อรู้สึกกระหายน้ำ หรือมีปัสสาวะสีเข้ม หรือแนะนำให้มารดาดื่มน้ำหนึ่งแก้วหลังให้นมบุตร

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

เคล็ดลับในการบีบเก็บน้ำนม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?ในการบีบเก็บหรือปั๊มนมนั้น โดยทั่วไปจะเริ่มทำในกรณีที่มารดามีอาการตึงคัดเต้านมหรือช่วงที่มารดาจำเป็นต้องแยกจากทารกและต้องการเก็บน้ำนม ช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ ในระยะแรก มารดาเริ่มการน้ำนมมา อาจพบการตึงคัดเต้านม ซึ่งการดูแลสามารถทำได้โดยการประคบร้อนให้ท่อน้ำนมและระบบไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองไหลเวียนได้ดี นวดเต้านม และให้ทารกดูดนมจากเต้า ในระยะแรกนี้การบีบน้ำนมด้วยมือมีรายงานว่าช่วยระบายน้ำนมได้ดีกว่าการปั๊มนม

? ? ? ? ? ? ? ? หลังจากในช่วงแรกหลังคลอดแล้ว หากมารดามีการกระตุ้นให้นมลูก 8-12 ครั้งต่อวันแล้วโดยที่มารดาและทารกมีช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันตลอด ไม่มีการตึงคัดเต้านม ทารกกินนมได้ดีและน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ ในช่วงนี้อาจไม่มีความจำเป็นต้องบีบหรือปั๊มนมเก็บ แต่เมื่อทารกเริ่มโตขึ้น จำนวนมื้อที่ทารกกินนมจะเริ่มห่างออก มารดาบางคนจะมีการตึงคัดเต้านมเนื่องจากมีการสร้างน้ำนมมาเร็วเหมือนกับในช่วงที่ให้นมลูกบ่อย ๆ ในระยะนี้ มารดาควรบีบเก็บน้ำนมเพื่อสำรองนมไว้ใช้ในช่วงที่มารดาอาจต้องไปทำงานและเป็นการช่วยลดการตึงคัดเต้านมด้วย สำหรับเคล็ดลับในการบีบน้ำนมหรือเลือกการปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มนมสามารถทำได้แล้วแต่ความสะดวกของมารดาในแต่ละคน การบีบน้ำนมด้วยมือมีข้อดีคือไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมพิเศษใด ๆ ในการเก็บน้ำนม ทำให้ประหยัดกว่า ส่วนการใช้เครื่องปั๊มนมด้วยไฟฟ้า หากเป็นเครื่องปั๊มนมที่สามารถปั๊มนมได้ทั้งสองเต้าพร้อมกัน และมีอุปกรณ์เสริมช่วยไม่ต้องใช้มือจับประคองที่ปั๊มนมขณะปั๊ม ก็มีข้อดีในส่วนที่มารดาสามารถทำงานอื่นร่วมกับการปั๊มนมได้พร้อม ๆ กัน และประหยัดเวลาในการเก็บน้ำนม

? ? ? ? ? ? ? ?การที่มารดาจะบีบเก็บน้ำนมหรือปั๊มนม ขั้นตอนในการบีบเก็บน้ำนมมีดังนี้1

  • เลือกสถานที่บีบเก็บน้ำนมที่มีความเป็นส่วนตัวและมีบรรยากาศผ่อนคลาย หากมีรูปทารกดูดนมหรือในห้องที่มีมารดาให้นมทารกอยู่ อาจช่วยกระตุ้นการไหลของน้ำนมได้ดี
  • มารดาควรมีรูปลูก ผ้าห่มตัวหรือเสื้อผ้าที่มีกลิ่นของลูก หรือการจินตนาการถึงการดูดนมของลูก สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการไหลของน้ำนม
  • กระตุ้นหัวนมและนวดเต้านม
  • บีบหรือปั๊มเก็บน้ำนมจากเต้านมราว 10-15 นาทีต่อเต้า เก็บน้ำนมให้เกลี้ยงเต้าจากเต้าหนึ่งก่อนที่จะเปลี่ยนไปเก็บน้ำนมจากอีกเต้านมหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

 

 

ควรวางแผนการเก็บน้ำนมอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? หากมารดาต้องการเก็บน้ำนมโดยการแช่เย็นหรือแช่แข็ง มารดาจำเป็นต้องมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บน้ำนม แต่ก่อนที่จะเก็บน้ำนม มารดาควรวางแผนการใช้ให้สอดคล้องกับการเก็บน้ำนมก่อนเสมอ นั่นคือ หากมารดาสามารถให้นมลูกจากเต้านมได้ด้วยตนเองเสมอจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากน้ำนมเหลือและมารดายังไม่มั่นใจว่าจะมีแผนในการใช้เมื่อไร การเก็บน้ำนมอาจต้องแช่แข็งเพื่อการเก็บรักษาน้ำนมได้นาน แต่หากมารดามีแผนที่จะให้น้ำนมที่บีบเก็บมาในวันเดียวกัน การเก็บรักษาน้ำนมของมารดาควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา ไม่จำเป็นต้องแช่แข็ง การเลือกเก็บรักษาน้ำนมตามแผนการใช้นม จะทำให้ทารกได้นมแม่ที่มีคุณค่าใกล้เคียงกับนมแม่จากเต้ามากที่สุด เนื่องจากการแช่น้ำนมในตู้เย็นหรือแช่แข็งคุณค่าของน้ำนมจะลดลงตามการเก็บรักษาและเวลาที่ผ่านไป เช่นเดียวกันกับการละลายน้ำนมที่แช่แข็งมาใช้ แม้ว่าการเลือกนำน้ำนมที่แช่หรือเก็บรักษาไว้นานมาใช้ก่อน จะทำให้โอกาสที่จะมีน้ำนมที่เสียหรือหมดอายุของการเก็บรักษาลดลง แต่หากคำนึงถึงในเรื่องคุณค่าที่ทารกจะได้รับ การให้ทารกได้กินนมแม่ที่เก็บใหม่คุณค่าจะสูงกว่าน้ำนมที่เก็บไว้นาน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มารดาควรเลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทาย การบริหารจัดการน้ำนมอย่างเหมาะสมโดยให้ลูกได้กินนมที่ใหม่ก่อนและใช้นมที่เก็บรักษาไว้ได้อย่างเหมาะสมไม่หมดอายุ ควรมีการอบรมหรือฝึกทักษะให้มารดาสามารถจะปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม1

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017