รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดสูงขึ้นทั้งในโรงพยาบาลของภาครัฐและเอกชน จากในอดีตอัตราการผ่าตัดคลอดจะอยู่ราวร้อยละ 30-40 ขณะที่ในปัจจุบันพบราวร้อยละ 60-90 การผ่าตัดคลอดนั้น มารดาต้องใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือ และวัสดุทางการแพทย์ที่มากกว่า จึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า รวมทั้งมารดาต้องได้รับการให้ยาระงับความรู้สึก ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมารดาและทารก และภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้นหลังคลอดและในการให้นมบุตร ซึ่งเมื่อมาดูถึงผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาที่ผ่าตัดคลอดจะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกไม่สำเร็จสูงขึ้นเกือบถึง 2 เท่า และมีความเสี่ยงในการที่จะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า 1.5 เท่า สำหรับผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็มีผลเช่นกัน มารดาที่ผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึงหกเดือนเพิ่มขึ้น 1.5-1.7 เท่า1 หากกล่าวโดยสรุปการผ่าตัดคลอดมีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นเมื่ออัตราการผ่าตัดคลอดสูงจึงเป็นเสมือนอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันรณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนในสังคมให้เกิดค่านิยมการผ่าตัดคลอดเฉพาะที่มีข้อบ่งชี้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศและช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Wu Y, Wang Y, Huang J, et al. The association between caesarean delivery and the initiation and duration of breastfeeding: a prospective cohort study in China. Eur J Clin Nutr 2018.